โรคเบาหวาน (Diabetes) รู้ทันป้องกันได้
โรคเบาหวาน เรามาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเจอในประเทศของเราเป็นส่วนมาก โรคนี้จะร้ายแรงมากน้อยขนาดไหน เรามีคำตอบมาให้กับทุกท่านแล้ว สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ สามารถอ่านได้ในหน้านี้เลย
โรคเบาหวาน คืออะไร
โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินสุลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินสุลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ ในภาวะที่อินสุลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของปริมาณอินสุลินในร่างกาย หรือการที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตอบสนองต่ออินสุลินลดลง (หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินสุลิน) จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ชนิดของโรคเบาหวาน
- เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเซลล์สร้างอินสุลินในตับอ่อน ทำให้เกิดภาวะขาดอินสุลิน
- เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะการลดลงของการสร้างอินสุลิน ร่วมกับภาวะดื้ออินสุลิน และมักเป็นกรรมพันธุ์
- เบาหวานชนิดพิเศษ สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดนี้อาจเกิดจากความความผิดปกติของตับอ่อน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติของอินสุลินโดยกำเนิด
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และหายไปได้หลังคลอดบุตร แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
อาการของโรคเบาหวาน
เบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารประเภทแป้ง ของหวานมากเกินไป ภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง การขยับร่างกายที่น้อยลง ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น เบาหวานชนิดนี้ มักเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่น อายุ 20 – 30 ปี ซึ่งสัมพัทธ์กับการรับประทานอาหารที่เป็นแป้ง ของหวาน หรือการออกกำลังกายที่ลดลง
ภาวะแทรกซ้อนหลัก ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน
1.ภาวะแทรกซ้อนทางตา
ภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือที่เรียกกันว่า ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลต่อจอประสาทตาทำให้เกิดจอประสาทเสื่อม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดจอประสาทตาลอก และตาบอดได้ในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังเสี่ยงต่อภาวะต้อกระจก ต้อหินได้มากกว่าคนปกติอีกด้วย
2.ภาวะแทรกซ้อนทางไต
ภาวะแทรกซ้อนทางไต หรือที่เรียกกันว่า ภาวะเบาหวานลงไต ในระยะเริ่มแรก ไตจะมีการทำงานที่หนักขึ้น เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูง ส่งผลให้มีแรงดันเลือดไปที่ไตสูงตามไปด้วย หากตรวจการทำงานของไตในระยะนี้ จะไม่พบความผิดปกติ การตรวจปัสสาวะอาจมีหรือยังไม่มีโปรตีนไข่ขาว (อัลบูมิน) รั่วออกมากับปัสสาวะ ระยะถัดมาจะเริ่มพบมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมากับปัสสาวะ และอาจมีการทำงานของไตที่ลดลงเล็กน้อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี การทำงานของไตจะลดลงเรื่อยๆ และอาจดำเนินไปถึงภาวะไตวายเรื้อรังจนต้องทำการล้างไตในที่สุด
3.ภาวะแทรกซ้อนทางเส้นประสาท
ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด คือผู้ป่วยมักมีอาการชาปลายมือปลายเท้า เหมือนใส่ถุงมือหรือถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจมีอาการเจ็บแปลบเหมือนโดนเข็มแหลม ๆ ทิ่ม บางคนมีอาการแสบร้อนบริเวณปลายมือเท้า อาการทางระบบประสาทที่พบได้แต่ไม่บ่อย เช่น เหงื่อไม่ออกหรือออกง่ายกว่าปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กลืนสำลัก ท้องอืดง่าย จุกแน่นลิ้นปี่ ซึ่งเป็นอาการของระบบประสาทที่ควบคุมการบีบเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารผิดปกติ
4.เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน
อาการเส้นเลือดแดงใหญ่อุดตันมักเกิดขึ้นโดยเฉพาะบริเวณขา อาการที่พบได้บ่อยคือ มีอาการปวดขามากเมื่อเดินหรือวิ่ง และดีขึ้นเมื่อพักหรือห้อยขาลงที่ต่ำ ปลายเท้าเย็น ขนขาร่วง ผิวหนังบริเวณขาเงามัน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันจนปลายเท้าขาดเลือด ติดเชื้อ และอาจต้องตัดนิ้วเท้า หรือขาทิ้งในที่สุด
5.เส้นเลือดหัวใจตีบ
ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหากตีบรุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง เกิดหัวใจวาย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตเฉียบพลันได้
6.เส้นเลือดสมองตีบ
ข่าวสุขภาพ อาการเส้นเลือดสมองตีบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเช่นกัน เมื่อเกิดภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ทำให้การทำงานของสมองและเส้นประสาทบริเวณที่ขาดเลือดลดลงหรือไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือมีอาการชาครึ่งซีก
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคเบาหวานมีทั้งหมด 4 วิธี แต่ที่แพร่หลายและแม่นยำในประเทศไทย มี 3 วิธี ได้แก่
- น้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารที่มีพลังงานเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง เกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง
- น้ำตาลในเลือดหลังกลืนน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
- น้ำตาลในเลือดแบบสุ่มโดยไม่ได้งดอาหารที่ให้พลังงาน เกิน 200 มิลลกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวานเช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย เป็นต้น
การรักษาโรคเบาหวาน
- การควบคุมอาหาร
- การออกกำลังกาย
- การใช้ยา
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และพบอุบัติการณ์การเกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ หากผู้ป่วยทำความเข้าใจกับตัวโรค และให้ความร่วมมือในการรักษา ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติได้